วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับ อพม

การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับ อพม.
1.การพัฒนาสังคม หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อประชาชนจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งด้านอาหาร ที่อยู่ การศึกษา สุขภาพอนามัย การมีงานทำ มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาค ความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบ
2. ความมั่นคงของมนุษย์ หมายถึง การที่ประชาชนได้รับหลักประกันด้านสิทธิ ความปลอดภัย การตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง งานอาสาสมัคร ถือว่า เป็นงานที่มีคุณค่าต่อสังคมและบุคคลที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครถือเป็นบุคคลที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ
3. อาสาสมัคร หมายถึง บุคคลที่อาสาเข้ามาช่วยเหลือสังคมด้วยความสมัครใจ เสียสละ เพื่อช่วยผู้อื่นในการป้องกัน แก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
4. อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) คือ ผู้ที่อาสาสมัครเข้ามาปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ทุกมิติของความมั่นคงของมนุษย์ในชุมชน เพื่อพัฒนาให้ท้องถิ่นของตน อยู่ดีมีสุข พึ่งพาตนเองไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน
5. คุณสมบัติของอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)
1. ต้องเป็นคนในหมู่บ้าน / ชุมชน
2. บรรลุนิติภาวะ
3. รักท้องถิ่น เสียสละ มีอุดมการณ์
4. มีการศึกษา อ่านออก เขียนได้
5. มีมนุษย์สัมพันธ์ดี
6. มีความเมตตา เอื้ออาทร สนใจช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา
7. เชื่อมั่นในแนวคิด พึ่งตนเอง และสนใจใฝ่รู้ในทุกเรื่อง
6. การพ้นสภาพ
1. ตาย
2. ลาออก
3. มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีความประพฤติเสียหาย
7. การจัดการเครือข่าย อพม.

1.ขอจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อเป็นกลไกเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐกัประชาชนในท้องถิ่น
2. รวมตัวเป็นกลุ่ม / องค์กร / ชมรม เพื่อทำงานบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

8.ภารกิจของ อพม. คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยทำหน้าที่ สำรวจ หรือ รวบรวมข้อมูลในหมู่บ้าน / ชุมชน อาทิเช่น ข้อมูล จปฐ. ข้อมูล บก. 01 ข้อมูล สร. 01-06 ข้อมูล อปท. 1-2 ข้อมูลครอบครัว (สธ.) ข้อมูลฝ่ายปกครอง ฯลฯ โดยนำมาจัดรวบรวม เป็นข้อมูลทางสังคม (Social Family Folder) เกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาหรือไม่ประสบปัญหา เพื่อนำไปสู่การดำเนินงาน ป้องกัน แก้ไข และพัฒนาสังคมให้อยู่ดีมีสุขแผนผังแสดงสถานการณ์ครอบครัวตามข้อมูลการจัดทำข้อมูลวางแนวทางพัฒนาคนทุกวัยในหมู่บ้าน / ชุมชนครอบครัวปกติ - ยกย่อง ชมเชย เป็นครอบครัวต้นแบบเด็ก / เยาวชน / ลูก - พัฒนาสติปัญญา ร่างกาย จิตใจ และจริยธรรม คุณธรรม
พ่อ – แม่ - ต่อยอดอาชีพ และสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรมปู่ย่าตายาย - ถ่ายทอดความรู้ให้ลูกหลาน (ภูมิปัญญา)อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นปูชนียบุคคลคนพิการ / ด้อยโอกาสในครอบครัว - พัฒนาส่งเสริมศักยภาพชุมชน ดูแลให้สวัสดิการให้การยอมรับให้โอกาสในการทำงานประกอบอาชีพคนเร่ร่อน / ไร้บ้านไม่มีญาติพี่น้อง - ให้ความเอื้ออาทร ห่วงใย ชุมชน ดูแลกันและกัน หรือ ส่งต่อขอความผู้ช่วยเหลือเมื่อเกินกำลังและผลักดันให้มี การจัดสวัสดิการชุมชนสร้างอุดมการณ์ชุมชนยึดคุณธรรม 4 ประการ (สังคมคุณธรรม) สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ประสานการดำเนินงานกับทุกเครือข่ายในชุมชน / หมู่บ้าน ตามแนวคิดของโครงการ อพม. เพื่อให้เกิดกลไก เชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐและประชาชน ท้องถิ่น รวมทั้งเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้หลัก สังคหวัตถุ 4 และอิทธิบาท 4การพัฒนาสังคมที่เป็นรูปธรรม ต้องเกิดจากการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมใช้ประโยชน์ของคนในชุมชน อพม. ต้องรู้จักวางแผนสังคม พัฒนาความคิด วางแผนชีวิต ช่วยเหลือชุมชน รู้ทันเทคโนโลยี บนพื้นฐาน ปรัชญา อพม. ที่จะเดินตามรอยพ่อ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและสังคมคุณธรรม

 

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

งานเวทีวิชาการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

              สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ ๑๐ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ สสว.๘และสสว.๙ ได้ดำเนินการจัดประชุมเวทีวิชาการพัฒนาสังคม ๒๕๕๓ (ครั้งที่ ๒)ณ หอประชุมสมเด็จย่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๒๗-๒๙ เมษายน ๒๕๕๓ ในการจัดเวทีวิชาการ มีนักวิชาการ และนักวิจัยจากสถาบันด้านการพัฒนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิจัย และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แกนนำใน
                             ชุมชน   กรรมการเครือข่ายพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่รับผิดชอบ ของสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ ๘,๙,๑๐ ที่มีผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาเข้าร่วมประชุม จำนวน๔๐๐คน

     นายสุรเดช  ฉายะเกษตริน รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน 
 นางศิริรัตน์  อายุวัฒน์  หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์กล่าวรายงาน และ นาวาอากาศเอก ดร.ธงชัย อยู่ญาติวงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกล่าวต้อนรับหลังจากพิธีเปิดประธานมอบเกียรติบัตรให้แก่  กลุ่ม  เครือข่าย   และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรม ครั้งนี้

     ในการจัดงานเวทีวิชาการพัฒนาสังคม ๒๕๕๓ ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานเครือข่ายพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรูปแบบตลาดนัดความรู้สวัสดิการชุมชน (กาดก้อมฮอมผญ๋า) ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนและภาคประชาสังคมในกระบวนการพัฒนา การค้นหาความต้องการสาเหตุของปัญหา แนวทางในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อนำไปเสริมสร้างศักยภาพของแต่ละชุมชนให้ร่วมกันพัฒนาวิถีชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

ฟักข้าว สมุนไพรต้านมะเร็ง

        ฟักข้าว อยู่ในวงศ์แตงกวาและมะระ ชาวปัตตานีเรียกขี้กาเครือ ภาคเหนือเช่นตากเรียกผักข้าว จังหวัดแพร่เรียกมะข้าวและที่ประเทศเวียดนามเรียกว่า แก็ก ฟักข้าวมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนพม่า ไทย ลาว บังกลาเทศ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นพืชที่ชาวเวียดนามใช้ประกอบอาหารมาก ในชนบทมีปลูกกันเกือบทุกบ้าน โดยปลูกพาดพันไม้ระแนงข้างบ้านและเก็บเฉพาะผลสุกมาประกอบอาหารแต่เนื่องจากฟักข้าวให้ผลดีที่สุดในช่วงฤดูหนาว ชาวเวียดนามจึงใช้ประกอบอาหารในเทศกาลปีใหม่และงานมงคลสมรสเท่านั้น ผลฟักข้าวมีเปลือกหนา ผลสุกเนื้อในหนามีสีส้มภายในมีเยื่อสีแดงให้เมล็ดเกาะ เนื้อผลสุกกินได้ ที่ประเทศเวียดนามใช้เยื่อสีแดงและเมล็ด ซึ่งมีน้ำมันเป็นยา ฟักข้าว 1 ผลจะได้เยื่อสีแดงราว 200 กรัม เป็นพืชโตเร็ว ไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากมาย แต่หากต้องการปลูกเป็นพืชสวนครัวคงต้องเตรียมพื้นที่มากหน่อย เพราะทั้งเถาและใบมีขนาดค่อนข้างใหญ่หากมีพื้นที่มากพอที่จะปลูกก็เพียงหากิ่งแก่ หรือจะเพาะเมล็ดก็ย่อมได้ รดน้ำให้ชุ่มชื้นสักพัก เมื่อออก รากจึงย้ายลงปลูกในที่ที่เตรียมไว้ค้างสำหรับฟักข้าวควรจะเป็นค้างที่มีขนาดใหญ่นิดหนึ่ง

       รศ.ดร.สุธาทิพย์ ภมรประวัติ ได้ เรียบเรียงไว้ในเอกสารวิชาการทางการแพทย์เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของฟักข้าวไว้ว่า ในประเทศไทยใช้ผลฟักข้าวอ่อนสีเขียวเป็นอาหารซึ่งรสชาติเนื้อฟักข้าวเหมือนมะละกอ ลวกหรือต้มให้สุกหรือต้มกะทิจิ้มน้ำพริกกะปิ หรือใส่แกง ยอดอ่อน ใบอ่อนนำมาเป็นผักได้ นำมานึ่งหรือลวกให้สุกกินกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงเป็นแกง เช่น แกงแค ประเทศเวียดนามกินข้าวเหนียวหุงกับเยื่อเมล็ดผลฟักข้าวสุกเนื่องจากชาวเวียดนามเชื่อว่าสีขาวเป็นสีแห่งความตาย ข้าวสีส้มแดงจึงจัดเป็นมงคลต่องานเทศกาลต่าง ๆ ชาวเวียดนามเอาเยื่อสีแดงจากผลฟักข้าวสุกพร้อมเมล็ดมาหุงกับข้าวเหนียว ได้ข้าวสีส้มแดงมีกลิ่นหอม ต้องมีเมล็ดฟักข้าวติดมาในข้าวด้วยจึงถือว่าเป็นของแท้เยื่อเมล็ดของฟักข้าวมีปริมาณเบตาแคโรทีนมากกว่าแครอท 10 เท่า มีไลโคพีนมากกว่ามะเขือเทศ 12 เท่า และมีกรดไขมันขนาดยาวประมาณร้อยละ 10 ของมวล การกินเบตาแคโรทีนจากฟักข้าวพบว่าดูดซึมในร่างกาย ได้ดีเพราะละลายได้ในกรดไขมันดังกล่าว

     งานวิจัยในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันมีผู้นำเยื่อเมล็ดนี้เป็นเครื่องดื่มอาหารเสริมจำหน่ายในต่างประเทศ ประเทศจีนใช้เมล็ดแก่ของฟักข้าวเป็นยามานาน กว่า 1,200ปี ใช้บำบัดอาการอักเสบบวม กลากเกลื้อน ฝีอาการฟกช้ำริดสีดวง แก้ท้องเสีย อาการผื่นคันและโรคผิวหนังติดเชื้อต่าง ๆ ทั้งในมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ การกินฟักข้าวเป็นยานั้น ใช้เมล็ดแก่บดแห้ง ส่วนการใช้ภายนอก ให้นำเมล็ดฟักข้าวบดแห้งผสมน้ำมัน หรือน้ำส้มสายชูเล็กน้อยทาบริเวณที่มีอาการและใช้เยื่อเมล็ดแทนสีผสมอาหารงานวิจัยในประเทศจีนพบว่าโปรตีนจากเมล็ดมีความสามารถต้านอนุมูลอิสระและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ตับในหลอดทดลองเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของฤทธิ์ทางชีวภาพของเมล็ดฟักข้าว ถือว่าลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระ จึงมีฤทธิ์ป้องกันมะเร็ง นอกจากนี้เมล็ดฟักข้าวเป็นส่วนผสมของยาแก้ปวดกล้ามเนื้อและคลาย กล้ามเนื้อในเครื่องยาจีนหลายตำรับ

            ประเทศเวียดนาม การวิจัยทางคลินิกที่มหาวิทยาลัยฮานอย พบว่าน้ำมันจากเยื่อเมล็ดฟักข้าวมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งตับ ในประเทศไทย มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลเกี่ยวกับสรรพคุณของเมล็ดฟักข้าว พบโปรตีน ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญ ของเชื้อเอชไอวี-เอดส์ และยับยั้งเซลล์มะเร็ง     จดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว ส่วนงานวิจัย อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และต่างประเทศพบว่า เมล็ดแก่ของฟักข้าวมีโปรตีน มอร์มอโคลซิน-เอส และโคลซินิน-บี มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของไรโบโซมซึ่งเป็นแหล่งผลิตกรด อะมิโน และต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง ซึ่งอาจนำไปใช้พัฒนาเภสัชภัณฑ์ได้ในวันข้างหน้า

      ประเทศญี่ปุ่นทำการวิจัยพบว่าโปรตีนจากสารสกัดน้ำของผลฟักข้าวยับยั้งการเจริญของก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนูทดลอง โดยลดการแผ่ขยายของหลอดเลือดรอบก้อนมะเร็ง และชะลอการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งดังกล่าว ในห้องทดลองน้ำสกัดผลฟักข้าวยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยการทำให้เซลล์แตกตาย ผลอ่อนฟักข้าวกินได้ ผลแก่ก็อุดมคุณค่า

       ลองหาพันธุ์มาปลูกให้เลื้อยเล่นหน้าบ้านจะได้กินเมื่อใจปรารถนา เป็นการสร้างสุขภาพป้องกัน
โรคร้ายได้อย่างดี

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 มิถุนายน 2551

จดหมายข่าวฉบับประจำเดือน เมย.มิย.53

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

จดหมายข่าว

ฉบับที่ ๒๖ ปีที่ ๖ ประจำเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม ๒๕๕๒

รับลมหนาวบนดอยเชียงดาว ชาวพม.ประชุมแผนปฏิบัติงานประจำปี 2553

        หน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 13 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการบูรณาการแผนปฏิบัติประจำปี 2553 ณ นิคมดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4-5 พ.ย. 2552 ที่ผ่านมา
          โดยมีนายชุมพร แสงมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มาเป็นประธานในการกล่าวเปิดงานและให้หลักคิด (AFP) ในการทำงาน (โดย A=Area คือ พื้นที่ทำงาน, F=Function คือ ภารกิจที่จะทำ, P=people/participation คือ กลุ่มเป้าหมาย/การมีส่วนร่วม) จากการประชุมสามารถสรุปสาระสำคัญ ได้เป็น 3 ประเด็น คือ 1) การคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบจำนวน 3 ตำบล 2) กิจกรรมบูรณาการ ร่วมของแต่หน่วยงานในพื้นที่ และ3) แนวทางการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการติดตามประเมินผลโครงการในพื้นที่
การคัดเลือก ตำบลต้นแบบ3ตำบลในการที่หน่วยงานทั้ง13หน่วยงานจะลงไปทำงานร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่ (อปท) ให้บูรณาการแผนการทำงานร่วมกัน ไม่ต่างคนต่างทำ ต้องร่วมกันทำงานและร่วมติดตามประเมินผลนับเป็นมิติใหม่ที่หน่วยราชการจะบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ เขตตรวจราชการที่ ๑๕ (ชม. มส. ลป. ลพ.)ร่วมประชุมกลุ่มจังหวัดครั้งที่ ๑ เพื่อให้หน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.) ศูนย์พัฒนาสังคม(ศพส.) สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ ๑๐ (สสว.๑๐) และหน่วยงานของ พม. ประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงตามหลักธรรมาภิบาลของโครงการ พร้อมแนวทางวิธีการจัดการความเสี่ยง(Project Review) ผู้ตรวจราชการกระทรวง (นายสมชาย เจริญอำนวยสุข) เป็นประธานการประชุมกลุ่มจังหวัดเขตตรวจราชการที่ ๑๕ ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ณ โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เด้น เชียงใหม่ ในวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์และประเมิน ความเสี่ยงและหามาตรการรองรับในการลดความเสี่ยงของแผนงาน/โครงการพร้อมข้อเสนอแนะทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการกับหน่วยรับตรวจและส่วนกลาง และเพื่อให้ผู้ตรวจราชการสามารถประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน หรือการจัดทำ ภารกิจของหน่วยงานในพื้นที่ตามเขตตรวจราชการส่วนภูมิภาค ๑๘ เขต ส่วนกลาง(พม.) ๑ เขต รวม ๑๙ เขต

บทความ

           จดหมายข่าว (สสว.10) ขออนุญาตนำอนุญาตนำผลการศึกษา สรุปผลการศึกษากลุ่ม ด้านสังคมจิตวิทยา เรื่อง “คนไทยที่ปรารถนา” ของสำนักงานคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชน มีศิษย์เก่า วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรวมตัวขึ้นเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมในด้านวิชาการ ได้ระดมความคิดเห็นความรู้ และประสบการณ์จากบุคลากร ที่เกี่ยวข้อง ทำการศึกษาปัญหาที่สำคัญของชาติ เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบาย ในระดับยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ได้ทำการศึกษา เรื่อง “คนไทยที่ปรารถนา” ได้ข้อสรุปของการศึกษาจึงเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานที่จะนำ ยุทธศาสตร์ในการสร้างคนไทยที่ปรารถนา ประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน ดังนี้

1.ปัญหา

     นิสัย ค่านิยม ความประพฤติบางประการในหมู่คนไทย เป็นเพื่อนฐานที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความแตกแยกในสังคมไทย ทั้งในชีวิตประจำวันและในทางการเมือง ส่งผลให้เมืองไทยมีความน่าอยู่น้อยลง

2.ข้อเท็จจริง

ค่านิยม ความประพฤติเฉพาะที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาในข้อ 1 มีดังนี้

2.1 ไม่ชอบปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาท (Ruler) ได้แก่ การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ, ไม่มีระเบียบวินัย, ซื้อสิทธิขายเสียง, ตั้งกฎหรือมาตรฐานของแต่ละคนขึ้นมาเป็นบรรทัดฐาน, ชอบตามกระแส, ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย, ไม่ตรงต่อเวลา, ไม่รักษาคำพูด ไม่มีสัจจะ, ใช้อารมณ์ไม่ชอบใช้เหตุผล เป็นต้น

2.2 ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นและไม่รักษาสิทธิของตนเอง (Rights) ได้แก่ การขาดความเกรงอกเกรงใจผู้อื่น (Care and Considerations) หรือขาดการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Considerations for Others) , เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น , เห็นแก่ตัว , ไม่รักษาสิทธิของตน เป็นต้น

2.3 ขาดความรับผิดชอบ (Responsibility) ได้แก่ ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน, ละเมิดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้อื่น เป็นต้น

2.4 บกพร่องในเรื่องคุณธรรม (Moral) ได้แก่ ไม่ซื่อสัตย์สุจริต, เห็นแก่ตัวมากกว่าส่วนรวมหรือผลประโยชน์ของชาติ, วัตถุนิยม, ฟุ่มเฟือยไม่ประหยัด, ยกย่องคนมีเงินไม่ยกย่องคนดี, ขาดความอดทนความขยันหมั่นเพียร, ชอบความสำเร็จทางลัด เป็นต้น

2.5 บกพร่องในเรื่องจริยธรรม (Ethics) ได้แก่ การไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสดาเพราะไม่เข้าใจในแก่นแท้ของศาสนา (โดยเฉพาะชาวพุทธ) และการไม่รักษาจรรยาบรรณของอาชีพตน

2.6 นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่แม้มิได้ก่อก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่คนไทย แต่เป็นก็สาเหตุทำให้เอกลักษณ์ความเป็นไทยอันดีงามเสื่อมทรามลง ได้แก่ ภาษาวิบัติ , ไม่เคารพผู้อาวุโส , ขาดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ , อาฆาตมาดร้ายไม่รู้จักการให้อภัย , หลงใหลวัฒนธรรมตะวันตก , ไม่มีสัมมาคารวะ , ไม่มองการณ์ไกล , ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น , ชอบหน้าใหญ่ใจโต , ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ , ไม่ชอบเห็นใครดีกว่าตน , รักสนุกแบบไม่มีขีดจำกัด , ไม่ชอบทำงานเป็นทีม เป็นต้น

3.ข้อพิจารณา

3.1 การที่คนไทยส่วนหนึ่งมีนิสัย ค่านิยม และความประพฤติอันไม่พึงปรารถนาในข้อ 2 นั้น เกิดจากการขาดการอบรมในเรื่องดังกล่าว และเมื่อประพฤติผิดก็ไม่มีผู้ว่ากล่าวตักเตือน หรือ ลงโทษ และนอกจากนั้นบางครั้งค่านิยมของคนส่วนใหญ่กลับเห็นผิดเป็นชอบอีกด้วย

3.2 ประเทศไทยในปัจจุบันปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เป็นการปกครองตนเอง โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และมีกฎหมายอื่น ๆ ระเบียบ ข้อบังคับ กติกา มารยาทต่างๆ ไว้ให้ปฏิบัติตาม การปฏิบัติตามกฎ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำรับการเป็น พลเมืองดี (Good Citizens) ในระบบประชาธิปไตย คนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ คือคนที่ยังปกครองตนเองไม่ได้ จะต้องถูกผู้รักษากฎหมายในทุกมิติกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และลงโทษเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาท ของสังคม เช่นเดียวกับผู้อื่น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาคกัน

3.3 ในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในมติต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ เช่น ในเรื่องของการออกเสียงเลือกตั้ง สิทธิในการแสดงความเป็นคน สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในทรัพย์สิน เป็นต้น การเคารพในสิทธิของผู้อื่น เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน และการรู้จักรักษาสิทธิของตนเองจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำ

3.4 ในสังคมที่ปกครองตนเองได้ คนในสังคมทุกสาขาอาชีพต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบโดยเฉพาะต่อหน้าที่ของตน ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปว่า บุคคลในสาขาอาชีพต่างๆ ขาดการเป็น “มืออาชีพ” ในหน้าที่ความรับผิดชอบของตน ทำให้ทุกภาคส่วนขาดประสิทธิภาพ และสร้างความผิดหวังให้แก่ลูกค้า แก่ผู้รับบริการ หรือแก่สังคม ที่คาดหวังความเป็นมืออาชีพจากบุคคลเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะขาดการตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญ

3.5 คุณธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและนำไปสู่การมีความสมัครสมานสามัคคีกัน ซึ่งในท้ายที่สุดนำไปสู่ความสำเร็จของหมู่คณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้พระราชทานบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาลัยเกษตรศาสตร์ วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2517 ความว่า “ความสามัคคีพร้อมเพียงกันเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิบัติบริหารงานใหญ่ๆ เช่น งานของแผ่นดิน และความสามัคคีจะเกิดขึ้นมั่นคงได้ ก็ด้วยบุคคลในคณะมีคุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวผูกพันจิตใจของกันและกันไว้”

     ในประเทศอังกฤษได้มีการปลูกฝังคติธรรมของคนอังกฤษซึ่งทำกันตั่งแต่เด็ก 7 ประการ คือ สัจจะพูดความจริง (Truth) , ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty) , ความระลึกในหน้าที่ (Sense of Duty) , ความอดกลั้น (Patience) , ความเป็นธรรม (Fair Play) , การเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Consideration for Others) และความเมตตาธรรม (Kindness) ซึ่งทั้ง 7 ประการนี้ทำให้เกิด Integrity คือ การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม

       ในประเทศไทย นั้น “ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 30 ปี นั้น เป็นปรัชญาที่เน้นเรื่องการปฏิบัติบน “ ทางสายกลาง ” ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน คือ ความพอประมาณ , ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นมีเงื่อนไข 2 ประการ คือ ต้องอาศัย “ ความรู้ ” และ “ คุณธรรม ” เป็นพื้นฐาน

       เงื่อนไข “ คุณธรรม ” ที่ต้องเสริมสร้างมี 7 ประการ คือ การตระหนักในคุณธรรม , ความซื่อสัตย์สุจริต , ความอดทน , ความเพียร , การใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต , ความไม่โลภ , ความไม่ตระหนี่ คุณธรรมทั้ง 7 ประการนี้ ควรสร้างให้มีขึ้นในคนไทยทุคน เพื่อนำไปสู่ความสามัคคีของคนในชาติ และนำไปสู่ความสำเร็จในทุกด้าน รวมทั้งควาสุขสงบร่มเย็นของสังคมไทย

3.6 ในด้านจริยธรรมนั้น พื้นฐานประการสำคัญที่สุดที่เป็นรากฐานให้แก่นิสัย ค่านิสัย ค่านิยมและความประพฤติที่ดี รวมทั้งการมีคุณธรรม ก็คือ การมีความรู้ความเข้าใจในแก่นแท้ของศาสนาตน และการปฏิบัติตนให้บรรลุแก่นแท้นั้นให้ลึกซึ้งที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ สังคมไทยทุกวันนี้คนไทยห่างศาสนามากขึ้นทุกที ๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ (และโดยเฉพาะชาวพุทธ) ตามความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้นและยังทำให้จิตใจอ่อนแอไม่สามารถรักษาจรรยาบรรณของอาชีพตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปลูกฝังจริยธรรมจริงจังด้วยวิธีที่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระทำ

3.7 จากข้อพิจารณาในข้อ 3.2 ถึงข้อ 3.6 คนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่จึงควรได้รับการอบรมและการเข้มงวดกวดขันในเรื่องที่คนไทยยังขาดอยู่ ซึ่งเป็นบ่อเกิดขิงความขัดแย้ง ความแตกแยกในสังคมไทย คือการปฏิบัติตามกฎ (Rules) , การเคารพในสิทธิของผู้อื่นและการรักษาสิทธิของตนเอง (Righs) , การมีความรับผิดชอบ (Responsibility) , การมีคุณธรรม (Moral) และการมีจริยธรรม (Ethics) เพื่อให้มีคุณลักษณะเป็น “ คนไทยที่ปรารถนา ”

3.8 นอกจากนี้ ในปัจจุบันเอกลักษณ์ของความเป็นไทย กำลังเสื่อมทรามลง เช่น ในด้านการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีเมตตากรุณาต่อกัน การให้อภัยการมีสัมมาคารวะ การไปหลงใหลวัฒนธรรมต่างชาติทั้งประเทศตะวันตกและประเทศตะวันออกด้วยกัน เป็นต้น ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

4.ข้อเสนอแนะ

4.1 “ คนไทยที่ปรารถนา ” ก็คือคนไทยที่มีนิสัยค่านิยม และความประพฤติดังนี้ คือ

1) ปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาท โดยเคร่งครัด (Rules)

2) เคารพในสิทธิของผู้อื่น และรักษาสิทธิของตนเอง (Rights)

3) มีความรับผิดชอบ (Responsibility)

4) มีคุณธรรม (Moral) 7 ประการ ตามเงื่อนไขคุณธรรมในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ( การตระหนักในคุณธรรม , ความซื่อสัตย์สุจริต , ความอดทน , ความเพียร , การใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต , ความไม่โลภ , ความไม่ตระหนี่ )

5) มีจริยธรรม (Ethics) รู้และเข้าใจแก่นแท้ของศาสนา และปฏิบัติตามคำสอนของศาสดา (ถ้าเป็นพุทธมามกะก็คือถือศีล 5 เป็นอย่างน้อย) และรักษาจรรยาบรรณของอาชีพตน

6) ดำรงรักษาเองลักษณ์ความเป็นคนไทย ด้วยการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง (โดยเฉพาะการใช้ ร.เรือ ล.ลิง คำควบกล้ำ การออกเสียงให้ตรงวรรณยุกต์ การไม่ร้องเพลงไทยสากล ด้วยการออกเสียงแบบฝรั่ง เป็นต้น) และเป็นคนโอบอ้อมอารีมีน้ำใจต้อนรับขับสู้ (Hospitality) เอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นต้น

4.2 ในการสร้างคนไทยที่ปรารถนา ทั้งในระดับเยาวชนและผู้ใหญ่นั้น ควรใช้สื่อกลาง 6 ประเภท ต่อไปนี้อย่างเหมาะสมทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ทั้งในเมืองใหญ่และในชนบท คือ

1) สถาบันครอบครา (บ้าน)

2) สถาบันการศึกษา (โรงเรียน)

3) สถาบันศาสนา (วัด โบสถ์ มัสยิด)

4) สถาบันชุมชน (สถาบันหลักที่กล่อมเกลาทางสังคมแก่บุคคลที่อยู่นอกวัยการศึกษา)

5) สถาบันวิชาชีพ (ควบคุมความประพฤติของบุคลากรในกลุ่มวิชาชีพของตนเอง)

6) สถาบันสื่อมวลชน (ควบคุมจรรยาบรรณเสื่อมมวลชนในสังกัด และเสนอข่าวสารที่ถูกต้อง)

4.3 การสร้าง “ คนไทยที่ปรารถนา ” ตามข้อ 4.1 ควรถือเป็น “ วาระแห่งชาติ ” เป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกรัฐบาล และสื่อกลางทั้ง 6 ประเภท ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจัง โดยกำหนดเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว และให้มีองค์กรที่รับผิดชอบในการสร้าง “ คนไทยที่ปรารถนา ” โดยตรง เพื่อให้เป็นผู้บูรณาการทุกภาคส่วนที่รับผิดชอบในการสร้าง “ คนไทยที่ปรารถนาในขอบเขตของแต่ละภาคส่วนนั้น ๆ ” ( เช่นสื่อกลางทั้ง 6 ) เข้าด้วยกัน

4.4 นอกจากการสั่งสอนอบรมแล้ว กุญแจสำคัญยิ่งในการตรวจสอบเพื่อให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตนออกไปนอกกรอบของ “คนไทยที่ปรารถนา” ก็คือสถาบันผู้รักษากฎหมายในมิติต่าง ๆ เช่น ปปช. , สังคมงานตำรวจแห่งชาติ , กกต. , กรรมสรรพากร , กรมป่าไม้ , กรมการศาสนา และสถาบัน สื่อมวลชน เป็นต้น สถาบันเหล่านี้จะต้องรักษากฎหมายอย่างเข้มงวด เคร่งครัด เสมอภาคและยุติธรรมซึ่งจะทำให้คนไทยลดความขัดแย้งซึ่งกันและกันลงได้ เพราะทุกคนประพฤติปฏิบัติตนเหมือน ๆ กัน (ทั้งโดยสมัครใจ หรือ โดยถูกผู้รักษากฎหมายบังคับ)จากความสำคัญของสถาบันผู้รักษากฎหมายดังกล่าวแล้ว ควรได้มีการปรับปรุง หรือปฏิรูปสถาบันผู้รักษากฎหมายทั้งหลาย ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมสร้าง “คนไทยที่ปรารถนา” ได้อย่างมีประสิทธิผล

4.6 ควรมีการปรับปรุงสื่อกลางทั้ง 6 ประเภท ให้คุณสมบัติเหมาะสมที่จะรับผิดชอบ เป็นสื่อในการสร้าง “คนไทยที่ปรารถนา” ในวัยต่าง ๆ เช่น

วัยเด็กเล็ก – บ้าน โรงเรียน ชุมชน เป็นหน่วยรับผิดชอบ

วัยเรียน – บ้าน โรงเรียน ชุมชน สถาบันศาสนา สื่อมวลชน เป็นหน่วยรับผิดชอบ

วัยทำงาน – ชุมชน สถาบันศาสนา กลุ่มวิชาชีพ สื่อมวลชน เป็นหน่วยรับผิดชอบ เป็นต้น

4.7 ในยุคปัจจุบัน สถาบัน “สื่อมวลชน” เป็นสื่อกลางที่สำคัญที่สุดและมีบทบาทสูงสุดในการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้แก่ประชาชนในทุกระดับชั้นและทุกเพศวัย สื่อมวลชนมีอิทธิพลสูงต่อการปรับเปลี่ยนนิสัย ค่านิยม และความประพฤติของประชาชน จึงมีความจำเป็นที่องค์กรรับผิดชอบ สื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญต่อการควบคุมจรรยาบรรณสื่อมวลชนในสังกัด ให้เสนอข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นกลางต่อประชาชน รวมทั้งให้ความร่วมมือต่อรัฐในการสร้าง “คนไทยที่ปรารถนา” อย่างแข็งขัน เพื่อนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน

4.8 การสร้าง “คนไทยที่ปรารถนา” อาจกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อให้สื่อทั้ง 6 ได้ดำเนินการต่อประชาชน ดังนี้

(1) ยุทธศาสตร์การสร้างวินัยพื้นฐาน มีแนวคิดที่จะปลูกฝังความมีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาทให้แก่ประชาชนทุกเพศวัย ประกอบด้วย โครงการต่าง ๆ เช่น โครงการให้รู้จักการเข้าคิว โครงการปฏิบัติตามกฎจราจร เป็นต้น

(2) ยุทธศาสตร์การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ มีแนวคิดที่จะปลูกฝังการเคารพในสิทธิของผู้อื่น และรู้จักรักษาสิทธิของตนเอง รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนไม่ละเมิดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้อื่น

(3) ยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง / ปลูกฝังหัวใจคุณธรรม มีแนวคิดที่จะสร้างให้คนในชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้ และมีคุณธรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเมื่อชุมชนไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น มีคุณธรรม และมีเศรษฐกิจดีท้องอิ่มแล้ว ก็จะง่ายต่อการปลูกฝังประชาธิปไตย ยินดีปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาท และที่สำคัญ คือประชาชนจะไม่ขายเสียง ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาการเมืองไทยตั่งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา นอกจากนี้การมีคุณธรรมจะนำไปสู่ความสามัคคีและการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จของชุมชนอีกต่อหนึ่ง

(4) ยุทธศาสตร์การใช้สื่อมวลชนเพื่อสร้างคนไทยที่ปรารถนา มีแนวคิดที่จะให้สื่อมวลชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันของตน ในการกำหนดทิศทางของประเทศด้วยการร่วมกันสร้างคนไทยที่ปรารถนา และให้องค์กรควบคุมสื่อได้เข้มงวดในการควบคุมการปฏิบัติของร่วมกันสร้างคนไทยที่ปรารถนา และให้องค์กรควบคุมสื่อได้เข้มงวดในการควบคุมปฏิบัติของสื่อมวลชนในสังกัด ได้ปฏิบัติอยู่ในกรอบของจรรยาบรรณของวีชาชีพตน และเสนอข่าวสารที่ถูกต้องเที่ยงตรง

(5) ยุทธศาสตร์พิทักษ์เอกลักษณ์ไทย มีแนวคิดที่จะพิทักษ์เอกลักษณ์ไทย โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ภาษาทั้งในการพูดและเขียนอย่างถูกต้อง การรักษานิสัยประจำชาติไทย ที่เป็นคนมีสัมมาคารวะเคารพผู้อาวุโสกว่า มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณา รู้จักให้อภัย เป็นต้น

      ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ข้างบนนี้เป็นเพียงตัวอย่างของยุทธศาสตร์ในการสร้าง “คนไทยที่ปรารถนา” ซึ่งยังยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ “การทำงานเป็นทีม” ซึ่งโดยปกติแล้วมิใช่นิสัยประจำชาติของคนไทย แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรมีการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ว่าทำอย่างไรจะให้คนไทยสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากผลที่ได้จากการปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถสร้างความสามัคคีในชุมชน และสร้างการทำงานเป็นทีมได้ในระดับหนึ่ง

4.9 หน่วยงานและสถาบันที่ควรมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการบูรณาการสร้าง “ คนไทยที่ปรารถนา ” ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ , กระทรวงมหาดไทย , กระทรวงการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , กระทรวงวัฒนธรรม , กระทรวงยุติธรรม , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กรมการศาสนา , สำนักงานเอกลักษณ์แห่งชาติ , ราชบัณฑิตยสถาน , สถาบันสื่อมวลชน , NGO และองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

สวัสดิการชุมชน เรียบเรียงโดยรุ้ง สสว๑๐

ความเป็นมา
           สังคมไทยมีลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูล มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง มีศาสนาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่พึ่งพาในการแก้ปัญหา เป็นระบบสวัสดิการชุมชนแบบธรรมชาติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเกื้อกูล เคารพซึ่งกันและกันระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ ต่อมารัฐบาลกลางมีบทบาทในการจัดสวัสดิการซึ่งช่วงแรกเป็นการจัดให้เฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์ตามระเบียบหลักเกณฑ์ของหน่วยงานโดยมีนักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้พิจารณา สู่การจัดสวัสดิการที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นเช่น ให้แรงงานในระบบสามารถได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึงตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตบริษัทเอกชนได้มีบทบาทในการประกันด้านต่างๆมากขึ้นมีระบบการประกันรูปแบบต่างๆอย่างหลากหลายซึ่งผู้ที่สามารถเข้าถึงก็เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูจนกระทั่งเมื่อประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ปราชญ์ชาวบ้าน แกนนำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หันมาทบทวนเรื่องระบบโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม ที่มีอยู่ในสังคมไทยก็พบว่ามีความเป็นเครือญาติ ชุมชน ทุนทางสังคมในด้านต่าง ๆ สามารถช่วยรองรับแรงกระทบจากภายนอกได้เป็นอย่างดี การจัดสวัสดิการโดยชุมชนที่มีฐานจากกิจกรรมการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น องค์กรการเงิน วิสาหกิจชุมชน หลักการทางศาสนา การจัดการทรัพยากรฯลฯ เป็นทางเลือกสำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงของชุมชนฐานราก ให้สามารถดำรงอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ได้อย่างมีศักดิ์ศรี สามารถยืนหยัดเป็นตัวของตัวเอง ลดการพึ่งพาภายนอก โดยในปีพ.ศ. ๒๕๔๒¬-๒๕๔๓กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมได้สนับ โดยที่ชุมชนเป็นผู้ร่วมกันกำหนดความความหมายว่า ใครคือผู้ยากลำบาก มีการจัดทำข้อมูลกลั่นกรองพิจารณาการให้ความช่วยเหลือโดยชุมชนทำให้เกิดเครือข่ายในการจัดสวัสดิการประมาณ 500 เครือข่าย สามารถดูแลกลุ่มเป้าหมายผู้อยากลำบากในรอบแรกได้ 538,414 ราย ทั้งในส่วนของผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อเอดส์ คนพิการ เด็ก ผู้ยากไร้ ฯลฯ ใช้งบประมาณ 2,017 ล้านบาท ซึ่งใช้ทั้งเป็นงบสงเคราะห์ช่วยเหลือแบบให้เปล่า จัดเป็นกองทุนหมุนเวียน และกองทุนสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีอยู่เดิม หลังจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วมีเงินทุนที่ยังคงหมุนเวียนอยู่ในชุมชนประมาณ ๗๐๐ล้านบาท ต่อมาชุมชนเกิดการตื่นตัวในการจัดสวัสดิการชุมชนอย่างกว้างขวางจึงฟื้นฟูแนวทางการจัดสวัสดิการบนฐานทุนของชุมชนได้แก่การใช้องค์กรการเงินกลุ่มออมทรัพย์เป็นฐานเช่นกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์นำผลกำไรมาจัดสวัสดิการ ตัวอย่างเช่น ศูนย์รวมน้ำใจธนาคารหมู่บ้าน

            จ.พะเยา เป็นต้น วิสาหกิจชุมชนเป็นการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาภายนอกเพิ่มมูลค่าผลผลิต ใช้ผลกำไรและการลดรายจ่ายมาเป็นสวัสดิการ ตัวอย่างเช่นในพื้นที่ ต. เขาคราม จ. กระบี่ การจัดสวัสดิการฐานทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนเป็นผู้จัดการป่า ชายฝั่งแหล่งน้ำ ฟื้นฟูทรัพยากรให้อุดมสมบูรณ์ ทำให้มีความมั่นคงด้านอาหาร เช่น พื้นที่ทุ่งยาว จ.ลำพูน การจัดสวัสดิการฐานศาสนา การใช้หลักคำสอนทางศาสนาและผู้นำศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เป็นฐานด้านการจัดสวัสดิการทั้งทางกายและจิตวิญญาณ เช่น การใช้หลักซะกาตให้การดูแลคน 8 ประเภท เป็นต้น ต่อมาเมื่อปี๒๕๔๗ มีการ งบประมาณมาจากสามฝ่ายคือทุนที่มาจากการออมของสมาชิกในชุมชนทั้งในรูปแบบออมทรัพย์เดิม หรือสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท การสมทบจากรัฐโดยผ่านช่องทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และการสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างกว้างขวางขึ้น ซึ่งในปีพ.ศ.๒๕๕๐รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนขยายการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลและสมทบงบประมาณในการจัดสวัสดิการชุมชนจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม๒๕๕๒รัฐบาลชุดปัจจุบัน(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ได้พิจารณางบประมาณสนับสนุนในปี๒๕๕๓จำนวน๗๒๗.๓ล้านบาทและยกระดับให้สวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติในหลักการสมทบ๑:๑:๑(ชุมชน:องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:รัฐบาล) ซึ่งมีหลักการสำคัญของสวัสดิการชุมชนดังนี้

มีต่อหน้าหล้ง………………

สวัสดิการชุมชนคืออะไร

สวัสดิการชุมชนคือการสร้างหลักประกันความมั่นคงของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการจัดการตนเอง การให้ความช่วยเหลือกันและกันฉันท์ญาติมิตร ให้ความรักความเอื้ออาทรต่อกัน ให้การดูแลเอาใจใส่กันและกันทำให้การจัดสวัสดิการชุมชนมิใช่แค่เพียงการช่วยเหลือทางการเงินเท่านั้นแต่สวัสดิการเป็นทั้งกำลังใจ กำลังทรัพย์และความรู้ เพื่อให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

หัวใจของการจัดสวัสดิการชุมชนคืออะไร

หัวใจของการจัดสวัสดิการชุมชนคือการพึ่งตนเองและการช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นกระบวนการของการให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี มีส่วนร่วม เป็นธรรมและเท่าเทียม

ผลของการจัดสวัสดิการชุมชนคืออะไร

ผลของการจัดสวัสดิการชุมชนคือการเกิดความสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความรู้สึกมั่นคง ภาคภูมิใจ อยู่อย่างมีศักด์ศรี และมีความสุขทั้งกายและทางจิตใจ

รูปแบบกิจกรรมสวัสดิการชุมชนมีลักษณะอย่างไร

รูปแบบกิจกรรมสวัสดิการชุมชนมีหลากหลายได้แก่

๑)รูปแบบออมวันละบาทและกองบุญสัจจะวันละบาทเช่นกองทุนสวัสดิการชุมชนวันะบาทตำบลศรีสุทโธ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

๒)จากฐานองค์กรการเงินชุมชนและการบูรณาการกองทุนเป็นกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นมีเป้าหมายเพื่อจัดสวัสดิการได้มีการนำผลกำไรมาจัดสวัสดิการ เช่นเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์จังหวัดสงขลา เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดตราด เป็นต้น

๓) กองทุนสวัสดิการจากฐานทางศาสนาเป็นการจัดสวัสดิการที่ใช้คำสอนทางศาสนาและผู้นำทางศาสนา เช่นกองทุนซะกาตของศาสนาอิสลาม

๔)กองทุนสวัสดิการจากฐานกองทุนผู้สูงอายุโดยใช้เงินกองทุนเป็นเครื่องมือมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุคิด จัดการ และรับผลประโยชน์ เช่น โครงการสวัสดิการผู้งอายุจังหวัดลำปาง

๕)กองทุนสวัสดิการจากฐานการช่วยเหลือคนจนและผู้ด้อยโอกาส เป็นการเริ่มจากการแก้ไขปัญหาความยากจนต่อมาขยับสู่การจัดสวัสดิการเพื่อดูแลกันเช่นกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่สลองนอกอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

๖) กองทุนสวัสดิการจากฐานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ป่าเป็นเครื่องมือในการจัดสวัสดิการชุมชนเช่นป่าชุมชนบ้านโคกพยอม อำเภอละงู จังหวัดสตูล

๗)กองทุนสวัสดิการชุมชนฐานชุมชนเมือง เป็นรูปแบบการจัดสวัสดิการที่เชื่อมโยงการจัดการเรื่องที่อยู่อาศํยเช่นสวัสดิการชุมชนบ้านมั่นคง เทศบาลเมืองชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

๘)ขบวนการกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดเป็นรูปแบบการจัดการตนเองของชุมชนที่บูรณาการทุน องค์กรชุมชน จากหลายตำบลเป็นจังหวัด เช่นกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดสงขลา

หลักเกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชนของรัฐบาลเป็นอย่างไร

การสมทบงบประมาณมาจากสามฝ่าย คือ ๑) ทุนที่มาจากการออมของสมาชิกในชุมชน ๒) การสมทบจากรัฐ ๓) การสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอัตรา ๑:๑:๑ โดยรัฐบาลจะจัดพิธีมอบงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันจันทร์ ที่ ๑๑ มกราคม

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการจัดสวัสดิการให้กับประชาชน โดยยกเป็นวาระแห่งชาติ และรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้แล้ว ๗๒๗.๓ ล้านบาท ซึ่งการสมทบงบประมาณมาจากสามฝ่าย คือ ๑) ทุนที่มาจากการออมของสมาชิกในชุมชน ๒) การสมทบจากรัฐ ๓) การสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอัตรา ๑:๑:๑ โดยรัฐบาลจะจัดพิธีมอบงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันจันทร์ ที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๓ ซึ่งการที่จะได้รับการสมทบงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชน มีเกณฑ์ ๕ ข้อ คือ

๑).เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ประชาชนจัดตั้งขึ้นไม่ต่ำกว่า ๑ ปี ในพื้นที่ระดับองค์การบริหารส่วนตำบล หรือระดับเทศบาล และผ่านการรับรองจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) หรือพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)

๒)มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ คน ซึ่งสมาชิก และผู้รับประโยชน์จากกองทุนต้องมีความหลากหลาย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และสมาชิกกระจายพื้นที่ในตำบลและมีหมู่บ้าน/ชุมชน

เข้าร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนหมู่บ้าน/ชุมชน ทั้งหมดในตำบล/ท้องถิ่น

๓)มีเงินกองทุนสวัสดิการชุมชนมาจากสมาชิก และได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับสวัสดิการชุมชนจากองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เงินสมทบ อาคาร สถานที่ วัสดุ เป็นต้น

๔)มีระบบการบริหารกองทุนที่ดีมีความชัดเจน ได้แก่ มีคณะกรรมการดำเนินงาน มีข้อมูลทะเบียนสมาชิก ระเบียบหลักเกณฑ์ของกองทุนระบบบัญชีการเงิน กองติดตาม ประเมินผลรายผลแผนการพัฒนาองค์กร

๕)มีการจัดสวัสดิการชุมชนไม่น้อยกว่า ๓ เรื่อง เช่น เกิด เจ็บ ป่วย ตาย ศึกษา อาชีพ

หากสนใจโปรดติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทุกจังหวัด

__________________________________________________________________________

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

งานทอดผ้าป่าสามัคคีดอยสะเก็ด

     วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ร่วมงานทอดผ้าป่าสามัคคีของกองทุนคนดอยสะเก็ด โดยมี
นายวิทัศน เตชะบุญ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็นประธานในพิธีฝ่ายฆารวสและท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ดท่านเจ้าคุณหลวงพ่อพระโพธิรังษี เจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ดเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีการไถ่ชีวิตโคจำนวน 10 ตัวและมอบให้เกษตรกรนำไปเลี้ยง และยังมีเวทีเสวนาวิชาการเรื่องสวัสดิการชุมชน พร้อมทั้งมอบผ้าห่มแก่ประชาชนด้วย

ร่วมประชุมงานสวัสดิการคนดอยสะเก็ด




วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ ร่วมประชุมแถลงข่าวการจัดงานทอดผ้าป่ากองทุนสวัสดิการคนดอยสะเก็ด
และร่วมเยี่ยมมอบทุนช่วยเหลือผู้ทุกขภาวะ สองครอบครัว ในเทศบาลเชิงดอย